วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ความสำคัญและหลักฐานทางประวัติาสตร์

  • 1 . วิธีการทางประวัติศาสตร์                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                          วิธีการทางประวัติศาสตร์
  •       เฮโรโดตัส Herodotus บิดาแห่งประวัติศาสตร์ ได้นำคำว่า ประวัติศาสตร์ history มาจากคำในภาษากรีกว่า historeo ที่แปลว่า การถักทอ มาเขียนเป็นชื่อเรื่องราวการทำสงครามระหว่างเปอร์เซียกับกรีก โดยใช้หลักฐานต่าง ๆ เป็นข้อมูล ในการเขียนเป็นเรื่องราว ซึ่งคล้ายกับการถักทอผืนผ้าให้เป็นลวดลายที่ต้องการ เฮโรโดตัส Herodotus จึงเป็น นักประวัติศาสตร์คนแรก ที่นำหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มาศึกษาเพื่อเขียนเป็นเรื่องราว อย่างไรก็ตาม การศึกษาเหตุการณ์ในอดีต อาจมีผู้สงสัยว่ามีทางเป็นไปได้หรือไม่และจะศึกษากันอย่างไร เนื่องจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วและ บางเหตุการณ์เกิดขึ้นมานานมาก จนสุดวิสัยที่คนปัจจุบันจะจำเรื่องราวหรือศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง นักประวัติศาสตร์ ได้อาศัยร่องรอยในอดีตเป็นข้อมูลในการอธิบายเรื่องราวต่าง ๆที่เกิดขึ้นในอดีต ร่องรอยที่ว่านี้เรียกว่า หลักฐานประวัติศาสตร์  

    วิธีการทางประวัติศาสตร

               การศึกษาประวัติศาสตร์ มีปัญหาที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ อดีตที่มีการฟื้นหรือจำลองขึ้นมาใหม่นั้น มีความถูกต้องสมบูรณ์และเชื่อถือได้เพียงใด รวมทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่นำมาใช้ เป็นข้อมูลนั้น มีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด เพราะเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มีอยู่มากมายเกินกว่าที่จะศึกษาหรือจดจำได้หมด แต่หลักฐานที่ใช้เป็นข้อมูลอาจมีเพียงบางส่วน
              ดังนั้น วิธีการทางประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ หรือผู้ที่จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะได้นำไปใช้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ลำเอียง และเกิดความน่าเชื่อถือได้มากที่สุด

              ในการสืบค้น ค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มีอยู่หลายวิธี เช่น จากหลักฐานทางวัตถุที่ขุดค้นพบ หลักฐานที่เป็นการบันทึกลายลักษณ์อักษร หลักฐานจากคำบอกเล่า ซึ่งการรวบรวมเรื่องราวต่างๆทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ เรียกว่า วิธีการทางประวัติศาสตร์
                วิธีการทางประวัติศาสตร์ คือ การรวบรวม พิจารณาไตร่ตรอง วิเคราะห์และตีความจากหลักฐานแล้วนำมาเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ เพื่ออธิบายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในอดีต ว่าเหตุใดจึงเกิดขึ้น หรือเหตุการณ์ในอดีตนั้นได้เกิดและคลี่คลายอย่างไร ซึ่งเป็นความมุ่งหมายที่สำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์



    • 2.ขั้นตอนวิธีการทางประวัติศาสตร์


    ขั้นตอนวิธีการทางประวัติศาสตร์

    ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดเป้าหมาย
              ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดเป้าหมาย เป็นขั้นตอนแรก นักประวัติศาสตร์ต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะศึกษาอะไร อดีตส่วนไหน สมัยอะไร และเพราะเหตุใด เป็นการตั้งคำถามที่ต้องการศึกษา นักประวัติศาสตร์ต้องอาศัยการอ่าน การสังเกต และควรต้องมีความรู้กว้างๆ ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องนั้นๆมาก่อนบ้าง ซึ่งคำถามหลักที่นักประวัติศาสตร์ควรคำนึงอยู่ตลอดเวลาก็คือทำไมและเกิดขึ้นอย่างไร

    ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อมูล 
            หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ให้ข้อมูล มีทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร มีทั้งที่เป็นหลักฐานชั้นต้น(ปฐมภูมิ) และหลักฐานชั้นรอง(ทุติยภูมิ)
            การรวบรวมข้อมูลนั้น หลักฐานชั้นต้นมีความสำคัญ และความน่าเชื่อถือมากกว่าหลักฐานชั้นรอง แต่หลักฐานชั้นรองอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจได้ง่ายกว่าหลักฐานชั้นต้น
            ในการรวบรวมข้อมูลประเภทต่างๆดังกล่าวข้างต้น ควรเริ่มต้นจากหลักฐานชั้นรองแล้วจึงศึกษาหลักฐานชั้นต้น ถ้าเป็นหลักฐานประเภทไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ควรเริ่มต้นจากผลการศึกษาของนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ก่อนไปศึกษาจากของจริงหรือสถานที่จริง
            การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีควรใช้ข้อมูลหลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าผู้ศึกษาต้องการศึกษาเรื่องอะไร ดังนั้นการรวบรวมข้อมูลที่ดีจะต้องจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ทั้งข้อมูลและแหล่งข้อมูลให้สมบูรณ์และถูกต้อง เพื่อการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ

    ขั้นตอนที่ 3 การประเมินคุณค่าของหลักฐาน
            วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์ คือ การตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลในหลักฐานเหล่านั้นว่า มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ประกอบด้วยการวิพากษ์หลักฐานและวิพากษ์ข้อมูลโดยขั้นตอนทั้งสองจะกระทำควบคู่กันไป เนื่องจากการตรวจสอบหลักฐานต้องพิจารณาจากเนื้อหา หรือข้อมูลภายในหลักฐานนั้น และในการวิพากษ์ข้อมูลก็ต้องอาศัยรูปลักษณะของหลักฐานภายนอกประกอบด้วยการวิพากษ์หลักฐานหรือวิพากษ์ภายนอก
            การวิพากษ์หลักฐาน (external criticism) คือ  การพิจารณาตรวจสอบหลักฐานที่ได้คัดเลือกไว้แต่ละชิ้นว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด แต่เป็นเพียงการประเมินตัวหลักฐาน มิได้มุ่งที่ข้อมูลในหลักฐาน ดังนั้นขั้นตอนนี้เป็นการสกัดหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือออกไปการวิพากษ์ข้อมูลหรือวิพากษ์ภายใน
            การวิพากษ์ข้อมูล (internal criticism) คือ การพิจารณาเนื้อหาหรือความหมายที่แสดงออกในหลักฐาน เพื่อประเมินว่าน่าเชื่อถือเพียงใด โดยเน้นถึงความถูกต้อง คุณค่า ตลอดจนความหมายที่แท้จริง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการประเมินหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะข้อมูลในเอกสารมีทั้งที่คลาดเคลื่อน และมีอคติของผู้บันทึกแฝงอยู่ หากนักประวัติศาสตร์ละเลยการวิพากษ์ข้อมูลผลที่ออกมาอาจจะผิดพลาดจากความเป็นจริง 

    ขั้นตอนที่ 4 การตีความหลักฐาน 
            การตีความหลักฐาน หมายถึง การพิจารณาข้อมูลในหลักฐานว่าผู้สร้างหลักฐานมีเจตนาที่แท้จริงอย่างไร โดยดูจากลีลาการเขียนของผู้บันทึกและรูปร่างลักษณะโดยทั่วไปของประดิษฐกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้ความหมายที่แท้จริงซึ่งอาจแอบแฟงโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
            ในการตีความหลักฐาน นักประวัติศาสตร์จึงต้องพยายามจับความหมายจากสำนวนโวหาร ทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ ของผู้เขียนและสังคมในยุคสมัยนั้นประกอบด้วย เพื่อทีจะได้ทราบว่าถ้อยความนั้นนอกจากจะหมายความตามตัวอักษรแล้ว ยังมีความหมายที่แท้จริงอะไรแฝงอยู่

    ขั้นตอนที่ 5 การสังเคราะห์ข้อมูล
              ขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้ศึกษาค้นคว้าจะต้องเรียบเรียงเรื่อง หรือนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่เป็นการตอบหรืออธิบายความอยากรู้ ข้อสงสัยตลอดจนความรู้ใหม่ ความคิดใหม่ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้านั้น
    ในขั้นตอนนี้ ผู้ศึกษาจะต้องนำข้อมูลที่ผ่านการตีความมาวิเคราะห์ หรือแยกแยะเพื่อจัดแยกประเภทของเรื่อง โดยเรื่องเดียวกันควรจัดไว้ด้วยกัน รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กัน เรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน จากนั้นจึงนำเรื่องทั้งหมดมาสังเคราะห์หรือรวมเข้าด้วยกัน คือ เป็นการจำลองภาพบุคคลหรือเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์และความต่อเนื่อง โดยอธิบายถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และผล ทั้งนี้ผู้ศึกษาอาจนำเสนอเป็นเหตุการณ์พื้นฐาน หรือเป็นเหตุการณ์เชิงวิเคราะห์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการศึกษา

    สรุปวิธีการทางประวัติศาสตร์
            วิธีการทางประวัติศาสตร์กับการศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

    ขั้นตอนของวิธีการทางปประวัติศาสตร์

    1. การกำหนดประเด็นปัญหา
            เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเรื่องราวในอดีตที่น่าสนใจ เพื่อเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การค้นคว้าและสืบค้นข้อมูลต่างๆ

    2. การรวบรวมหลักฐาน
            เป็นการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายและแตกต่างกัน เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวที่ต้องการศึกษาค้นคว้า

    3. การวิเคราะห์ การตีความและการประเมินหลักฐาน
            เป็นการตรวจสอบหลักฐาน โดยเน้นวิเคราะห์และตีความเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับมากที่สุด

    4. การสรุปและเชื่อมโยงข้อเท็จจริง 
            เป็นการประมวลข้อมูลจากหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์

    5. การนำเสนิข้อเท็จจริง
            นำเสนอข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษามาเรียบเรียงและอธิบายอย่างสมเหตุสมผล โดยจะต้องบอกที่มาของหลักฐานหรือแหล่งข้อมูลอย่างถูกต้องและเปิดเผย เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้
            สมัยรัตนโกสินทร์เป็นสมัยที่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากอดีตมาถึงปัจจุบันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยก่อนหน้านี้ ย่อมส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน การศึกษาเหตุการณ์สำคัญ สามารถศึกษาจากหลักฐานที่เป็นเอกสารต่างๆ จำนวนมากเพื่อให้เข้าใจข้อมูลได้อย่างถูกต้องชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น